ป้ายกำกับ: สะอึก

สะอึกบ่อย แก้อย่างไร

หลายๆ ท่านคงจะมีประสบการณ์ในการ “สะอึก” มาบ้างแล้ว และทราบดีว่าการที่จะทำให้หยุดสะอึกอย่างจงใจนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ การสะอึก (hiccup) เป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอดและช่องท้องที่เกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดการหายใจเอาอากาศเข้าไปก่อน และจะหยุดหายใจเข้านั้น ทันทีทันใด เนื่องจากทางเข้าหลอดลมจะปิด ทำให้เสียงดังของการสะอึกเกิดขึ้นทุกครั้งไป

อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอด และช่องท้องที่เกิดขึ้นเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากมีสิ่งมากระตุ้นเส้นประสาท 2 เส้น คือ เส้นประสาทเวกัส vagus nerve และเส้นประสาทฟรีนิก phrenic nerve ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเสียงสะอึกที่เกิดขึ้นมาจากการหายใจออกขณะที่กะบังลมเกิดการกระตุกทันทีทันใด ทำให้เกิดเสียงดังของการสะอึกขึ้น อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง อาจใช้เวลาเป็นวินาทีหรือ 2-3 นาที ซึ่งอาจพบได้บ่อยๆ แต่ถ้าหากสะอึกอยู่นานๆ เป็นครั้งค่อนชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจจะต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสะอึกที่เกิดขึ้นในขณะนอนหลับจะมีความหมายมากกว่าการสะอึกในเวลากลางวัน

กลไกการสะอึก

ขณะที่หายใจเข้า กะบังลมที่อยู่ตอนล่างของช่องอกจะเคลื่อนลงล่าง ทำให้ปอดขยายตัว และดึงดูดให้อากาศเข้าปอด
กะบังลมเกิดการกระตุก ทำให้ลมหายใจตีกลับขึ้นข้างบน ขณะที่ลิ้นกล่องเสียงปิด ตัดกระแสลม ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้น
ในที่สุดลิ้นกล่องเสียงเปิด กะบังลมคลายตัว และลมหายใจออกจากปอด
แม้ว่ากลไกการเกิดการสะอึก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาการนี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยศูนย์กลางของการสะอึกจะอยู่บริเวณก้านสมองบริเวณเมดัลลา แล้วเชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้นด้วยเส้นประสาทเวกัสและเส้นประสาทฟรีนิก